ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์ LivingDD.com
จากความประทับใจในเรื่องราวของอาหาร ที่ได้ลงมือเข้าครัวกับคุณย่ามาตั้งแต่วัยเยาว์ ค่อยๆก่อกลายเป็นความรักความผูกพัน ประกอบกับได้เรียนรู้การทำอาหารจากผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารชาววังระดับประเทศ อย่างหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ หม่อมหลวงต่อ กฤดากร ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ได้เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์ กลายเป็นหนึ่งใน Guru ด้านอาหาร และเป็น Food Stylist ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอาหารระดับประเทศ
ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์ จบการศึกษาปริญญาโท Cultural Heritage and Contemporary Arts Management จาก College of Innovation มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาตรีศิลปะศาสตร์บัณฑิต จากคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นนักโบราณคดี ภัณฑารักษ์ของกรมศิลปากร ก่อนออกมาเป็น Creative และ Content Manager (นักออกแบบเรื่องราวให้พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ)ทั้งในและต่างประเทศ
ผลงานที่สร้างชื่อคือ “มิวเซียมสยาม” แต่ด้วยใจรักและผูกพันกับการทำอาหารกับคุณย่ามาตั้งแต่เด็ก และได้เรียนรู้เรื่องอาหารเพิ่มเติมจากผู้ใหญ่ที่มีฝีมือทางด้านการครัว เช่น หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ หม่อมหลวงต่อ กฤดากร จึงหันมาสนใจทางด้านการออกแบบอาหาร
ปัจจุบันดวงฤทธิ์เป็นคอลัมนนิสต์ประจำในคอลัมน์ “Taste & Tales” ให้กับนิตยสาร Health & Cuisine รับผิดชอบการออกแบบอาหารและเขียนคอลัมน์ Bazaar Cuisine นิตยสาร Harper’s Bazaar Thailand เป็น Artistic Food Stylist ของ White Café เป็น Guruด้านอาหารประจำรายการ Food & Health Gang ช่อง True Vision 67 รายการ “กินอยู่พูวาย” ช่อง 11และรายการ “เรื่องกินเรื่องใหญ่” ช่อง Post T.V. งานด้านอาหาร – ที่ปรึกษาร้านอาหาร Tempi Felici โครงการ Palio เขาใหญ่ – วิทยากรจัดทำ Workshop อาหารประทานจากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัช พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฎราชกุมาร ในโครงการสานสายใยรัก ณ เมืองทองธานี – กรรมการตัดสินการแข่งขันอาหารไทย ในรายการ “เชฟกระทะเหล็ก” – วิทยากรพิเศษรับเชิญสาธิตและ workshop การทำอาหารจากผลิตภัณฑ์โครงการหลวง ในงานโครงการหลวง 44 – ดูแล และออกแบบอาหารให้กับโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ และโรงแรมในเครือ X2 ปราณบุรี,สมุย – วิทยากรจัดทำ Workshopและสาธิตการทำอาหารให้กับบริษัทและองค์กรต่างๆ – จัดและออกแบบอาหารให้กับงานถ่ายโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เช่น S&P, Central Food Hall, Emporium Magazine เป็นต้น
เรื่องราวของดวงฤทธิ์
“ฉันรักเรื่องราวของกับข้าวกับปลา…เพราะกับข้าวกับปลาคือส่วนหนึ่งของชีวิตฉัน” เพราะ “กับข้าวกับปลา” ไม่เพียงเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราเท่านั้น ก็เพราะตั้งนานมาแล้วนั่นเอง ที่มนุษย์เรานี่แหละให้ความพิสมัยในกับข้าวกับปลา จนนำมาประดิดประดอยเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ แล้วพาลหลงใหลได้ปลื้ม แม้เว้นแม้แต่คนไทยหัวใจพอพียงอย่างฉัน จากความรักและความผูกพัน ฉันจึงลงมือถ่ายทอดเรื่องราวของกับข้าวกับปลา ลงในหน้าเฟสบุ๊คของฉันที่มีชื่อว่า Facebook | Duang-rithi Claewplodtook ซึ่งเป็นเสมือนสมุดบันทึกเรื่องราวของอาหารการกินบน Social Network จนมีเพื่อนๆเข้ามากดไลค์กันอย่างมากมายจนฉันเองยังแปลกใจ เพื่อนๆที่เข้ามาดูต่างบอกกับฉันเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อเปิดดูเฟสบุ๊คของฉัน จะมีกลิ่นหอมฟุ้ง อบอวล ของอาหารไทยโบราณออกมาจากหน้า wall ของฉันเลยทีเดียว หลายคนบอกว่าเป็นบรรยากาศที่ไม่อาจเจอได้ง่ายๆ ในเครือข่ายนี้ น่าจะให้รสชาติแปลกลิ้นและอร่อยชวนชิมเอามากๆ…อืมมม..ขนาดนั้น เมื่อได้แลกเปลี่ยน เรื่องเล่า เรื่องราวกับข้าวกับปลาในหน้าเฟสบุ๊ค ฉันรู้สึกว่ามีความสุข และบางครั้งก็เผลอหลงเข้าไปเดินเล่นในจินตนาการย้อนอดีตกลับไปอยู่ในยุคของคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย อยู่บ่อยๆ ฉันขอเรียกท่านเหล่านั้นว่าคุณปู่หรือคุณย่า ผู้เปี่ยมด้วยความรัก ความเมตตา และกรุณาให้เด็กน้อยอย่างฉันได้เดินตาม เกาะเกาะแข้งเกาะขาท่าน เพื่อเรียนรู้ ซึมซับมรดกทางวัฒนธรรมที่แสนจะงดงาม ละเมียดละไมไว้ ฉันขอกราบบนตักเพื่อระลึกรู้ในพระคุณของท่านด้วยความเคารพอย่างซาบซึ้งใจที่สุด ฉันเข้าครัวกับคุณย่ามาตั้งแต่เด็ก พอคลานได้ก็เริ่มเข้าไปป้วนเปี้ยน นั่งเล่นปั้นแป้งขนมอยู่หน้าเตาถ่าน ได้กลิ่นเครื่องแกงเจือกลิ่นกะทิสดหอมฟุ้งจากหม้อแกงใบใหญ่ พอ 5 -6 ขวบก็เริ่มดูโน่น ถามนี่ อย่างตื่นตาตื่นใจ เมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อย คุณย่าก็คอยสอนและอนุญาตให้ฉันช่วยหยิบจับอะไรต่างๆ จนค่อยๆ ซึมซับการทำอาหาร และจดจำเรื่องเล่ามากมาย ที่คุณย่าบอกกล่าวหน้าเตาถ่านอันคุกรุ่นในห้องครัว รวมไปถึงเคล็ดลับแบบโบร่ำโบราณที่ฉันตักตวงมาจากคุณย่า เช่น คุณย่าจะไม่ถนัดการชิมอาหารเวลาทำ แต่สามารถรู้ถึงรสที่พอดี ว่ามีความเปรี้ยวเค็มหวานหรือยังได้จากการ “ดม” หรือแม้แต่การโขลกเครื่องแกงนั้นต้องละเอียดยิบชนิดเมื่อเอามาละเลงบนฝ่ามือ ทุกอณูของเครื่องแกงต้องลงไปอยู่ในร่องลายมือได้หมด! ฉันยังจำเรื่อง “แกงเหลืองกับข้าวตังปิ้ง”ที่เพื่อนของฉันคาดไม่ถึงว่าจะกินแกล้มกันได้ “ข้าวต้มกะทิ”หอมกลิ่นกะทิคั้นสดรสหวานธรรมชาติตำรับชาววัง “ขนมทองพลุ”ราดน้ำเชื่อมจากผลทับทิมเต็มปากเต็มคำ หรือที่มาที่ไปของอาหารบางตำรับจากในรั้วในวัง พร้อมเคล็ดลับและเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้อาหารจานนั้นๆ มีชีวิตชีวา เช่น “ปลาทูต้มเค็ม”ตำรับคุณย่าอีกท่านหนึ่งที่ฉันรักและเคารพมาก คือ หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ซึ่งห้องเครื่องในวังทำเลี้ยงข้าหลวงทุกวันพฤหัสบดี “สุกี้ยากี้ตำรับญี่ปุ่น”จากวังสวนสุนันทาที่ทำถวายเจ้านายเสวยขณะชมหนังกลางแปลงเรื่องเบนเฮอร์ ที่นำมาฉายบนสนามหญ้าหน้าวัง หรือเรื่องเล่าจากคุณปู่เช่น เรื่องของ “ไข่น้ำ” อาหารยอดฮิตของนักเรียนนายร้อยเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน แม้ว่าจะชื่นชอบอาหารมากเพียงใด แต่ฉันก็ไม่ได้ออกแบบชีวิตให้เดินไปตามเส้นทางของอาหาร ฉันเลือกเรียนต่อวิชาโบราณคดี ศึกษาเรียนรู้รากของเหง้าของฉันผ่านประวัติศาสตร์ของโบราณสถาน โบราณวัตถุและการขุดค้น จนได้มาทำงานเป็นนักโบราณคดีในกรมศิลปากร ยังเคยเป็นภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก และเคยทำงานเป็น Project Content & Copy Writer ให้กับนิทรรศการถาวรของมิวเซียมสยาม แต่เส้นทางที่ดูเหมือนต่างกลับกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เพราะการได้เรียนและทำงานในสายงานนี้ ทำให้ฉันได้พบเจอผู้ใหญ่หลายๆ ท่านที่มีความรู้ด้านอาหารไทย อย่างท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ธิดาของหม่อมหลวงต่อ กฤดากร ซึ่งถือเป็นกูรูอาหารไทยตำรับชาววังท่านหนึ่ง ทั้งหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ผู้เขียนเรื่องราวชีวิตในวัง ซึ่งท่านกรุณาให้ความเมตตาเอ็นดูสนิทสนมถ่ายทอดความรู้และเรื่องราวมากมายที่อบอวลอยู่ในกับข้าวกับปลา อีกทั้งยังทำให้ฉันเห็นว่า ในอาหารนั้นมีประวัติศาสตร์และเรื่องราวบรรจุอยู่มากมายไม่แพ้เครื่องปั้นดินเผาสมัยบ้านเชียง หรือลูกปัดโบราณสมัยทวารวดีเลย เมื่อคนเรามีความสุข มีความอิ่มเอมในชีวิต สภาวะนี้จะสะท้อนออกมาเป็นผลงานแสนวิเศษได้ เช่น เครื่องใช้ไม้สอยที่เรามี ถ้วยชามรามไห ผ้าผ่อนท่อนแพร เครื่องนุ่งเครื่องห่มที่น่าอัศจรรย์ในสีสัน รูปทรง รายละเอียดต่างๆ อาหารการกินของเรานั้นก็จะยิ่งทวีความหลากหลาย สมัยก่อน ใน South East Asia อาหารการกินของเราเริ่มมาจาก “ข้าว ปลา เกลือ” เพียง 3 อย่างเท่านั้นเอง แต่พอเรามีการติดต่อสื่อสาร เกิดวัฒนธรรมขึ้นมา เรามีความสุขกับการเป้น การอยู่ เราจึง “เลือก-รับ-ปรับ-ใช้” วัฒนธรรมอาหารการกินของต่างชาติเข้ามา แล้วค่อยๆดัดแปลงให้ถูกปากต้องลิ้นของตัวเอง จนกลายเป็นอาหารที่มีรสชาติ มีการปรุงแต่งที่หลากหลาย มีการเติม มะพร้าว น้ำคั้นจากเนื้อมะพร้าวหรือกะทิ พริก เครื่องเทศ เครื่องแกง เพิ่มน้ำตาล เพิ่มมะนาวเข้าไป อาหารจึงนับเป็นวัฒนธรรมที่เดินทางผ่านลิ้นและรสมือของแต่ละครอบครัว สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ทุกสิ่งอันพันละน้อยมีประวัติความเป็นมา มีเรื่องเล่า รวมไปถึงกับข้าวกับปลาทุกอย่างที่เราได้กิน ได้ปรุง ได้สัมผัส มันไม่ใช่แค่จัดอาหารมาตั้ง กิน อร่อย แล้วก็จบ แต่มันมีชีวิต กว่าจะมาอยู่ตรงหน้าเรามันมีอะไรผ่านมามากมาย มันน่าประทับใจ
อาหารไทยเกิดจากการรวบรวมศาสตร์และศิลปะของอาหารหลายๆ ชาติมารวมกัน เหมือนการแต่งกายหรือการใช้ชีวิตของคนไทย เมื่อก่อนเรานุ่งโจงกระเบน ผ้านุ่งเราก็ได้รับอิทธิพลจากการนุ่งผ้าโธรตีจากอินเดีย ผ้าสไบที่เราห่มก็รับมาจากเขมร แกงมัสมั่น แกงเขียวหวาน เราได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย การทอด การผัดอาหารในน้ำมันเราก็ได้มาจากจีน เป็นต้น ลักษณะของ “ไทย” เกิดจากการผสมผสานของรูปแบบนั้น รูปแบบนี้จนกลายเป็นเรา เมื่อเรารู้ว่ารากของเราคืออะไร เราเป็นมาอย่างไร กินอยู่อย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร รากฐานความคิดเป็นอย่างไร เราจะตระหนักรู้ และไม่ฉาบฉวยกับอะไรที่เข้ามาและผ่านไปโดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์ เพราะเราเข้าใจลึกซึ้งแล้วว่าธรรมชาติของวัฒนธรรมย่อมมีการเลื่อนไหล เปลี่ยนแปลง อาจไกลเกินกว่าอาหาร แต่ฉันเชื่อว่า What on your mind ของหลายคนอาจเปลี่ยนไป หากเราฝึกหัดจะเข้าใจอะไรลึกซึ้งขึ้น เพราะ “เมื่อใจเราเปิดกว้าง อันเกิดจากการไตระหนักรู้อย่างลึกซึ้ง เราจะยอมรับและต่อยอดสิ่งที่เรามีออกไปได้อย่างมีคุณภาพ”
ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์
Guru ด้านอาหาร และ Food Stylist ระดับประเทศ
Email : duangrithi@gmail.com
ที่มา: http://www.livingdd.com/duang-rithi-claewplodtook/